หลายคนคงมีปัญหาแบบเดียวกัน อยากจะไปเที่ยวแล้ว อยากได้กระเป๋าเดินทางใหม่ เลือกแบบไหนดี เลือกขนาดไหนดี วันนี้ เราจะมาแนะนำ
เคล็ดลับที่ 1 - เลือกขนาดให้พอเหมาะกับจำนวนวัน
ก่อนอื่นต้องนึกก่อนว่า สัมภาระเรามีอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ของแต่งตัว รองเท้า เครื่องสำอาง ยาที่จำเป็น แล้วอย่าลืมคิดด้วยว่าขากลับจะมีของฝากติดไม้ติดมือกลับมาหรือไม่
โดยปกติแล้วขนาดกระเป๋าเดินทางตามมาตรฐาน คือ ขนาด 20 นิ้ว, 24 นิ้ว และ28 นิ้ว
เดินทาง 1-2 วัน > > > กระเป๋าเดินทางขนาดไม่เกิน 20 นิ้ว
การเดินทางแบบเร่งด่วน อาจจะไปทำงานหรือเดินทางไปทำธุระที่ด่วนมาก ๆ มีเวลาพักค้างคืนแค่ 1 คืนเท่านั้น แนะนำกระเป๋าเดินทาง ขนาดไม่เกิน 20 นิ้ว เพราะถือหิ้วขึ้นเครื่องได้ ไม่ต้องเสียเวลารอโหลด และในการเดินทางแค่คืนเดียว นำไปแต่ของจำเป็นก็เพียงพอ
เดินทาง 3-4 วัน > > > กระเป๋าเดินทาง 24 นิ้ว
ใครมีแพลนเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด / ต่างประเทศ อยากให้ใช้กระเป๋าเดินทางขนาด 24 นิ้ว ใส่สัมภาระพอดีๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป แถมมีพื้นที่เหลือสำหรับสายช้อปใส่ของกลับได้เพิ่มอีก ไหนๆก็ไปเที่ยวแล้ว เลือกซื้อรองเท้าสักคู่ เสื้อสวยๆสักตัวกลับมาด้วยเป็นที่ระลึก
เดินทาง 5 วันขึ้นไป > > > กระเป๋าเดินทาง 28 นิ้ว
การเดินทางระยะยาว เดินทางไปศึกษาต่อ หรือเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่มีอากาศหนาวมากๆ จนอากาศแทบจะติดลบ ควรใช้กระเป๋าขนาดใหญ่ เพราะเสื้อผ้าที่จำเป็นต้องนำไป มักจะเป็นเสื้อโค้ตสวย ๆ หนา ๆ เอาไปใช้งาน เอาไปถ่ายรูป
นึกให้ออกแล้วเลือกขนาดที่พอดีกับการเดินทาง
เคล็ดลับที่ 2 - ข้อจำกัดของสายการบิน
โดยปกติกระเป๋าที่สามารถถือติดตัวขึ้นเครื่อง (Carry on) ได้นั้น แต่ละสายการบินจะกำหนดขนาด และน้ำหนักเอาไว้เสมอ เพื่อนๆต้องศึกษาและเลือกกระเป๋าให้เหมาะกับสายการบินนั้นๆด้วยนะคะ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 7 กิโลกรัม หากมีน้ำหนักมากกว่ากำหนด หรือขนาดใหญ่กว่าที่กำหนด จะต้องโหลดลงใต้เครื่อง (Checked Luggage) ไม่สามารถถือขึ้นเครื่องได้
ลองเช็ครายละเอียดตามตารางด้านล่างค่ะ
CAGGIONI : Explore the world
เคล็ดลับที่ 3 - วัสดุของกระเป๋าเดินทาง
กระเป๋าเดินทางประเภทอ่อน (Soft Case)
ผลิตจากวัสดุผ้าโพลีเอสเตอร์ผสมไนล่อน
ข้อดี : กระเป๋ามีความเบาและยืดหยุ่น สามารถใส่ลงไปในช่องเก็บสัมภาระที่แคบและจำกัดได้ และยังเหมาะมากสำหรับผู้ที่รักการช้อปปิ้งหรือมีเสื้อผ้าสิ่งของเยอะมากๆ เพราะกระเป๋าสามารถยืดหยุ่นและเพิ่มพื้นที่ความจุได้มากขึ้น
ข้อเสีย : ป้องกันการกระแทกได้น้อยกว่าแบบแข็ง และอาจฉีกขาดได้หากทำมาจากวัสดุที่คุณภาพไม่ดีพอ บางรุ่นไม่สามารถกันน้ำได้
กระเป๋าเดินทางประเภทแข็ง (Hard Case)
ผลิตจากเม็ดพลาสติก ส่วนมากเป็นโพลีคอร์บอเนต (PC), อะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน (ABS) และโพลีพร๊อพโพลีน (PP)
ข้อดี : มีความแข็งแรงทนทาน มีโครงสร้างกันกระแทก กระเป๋าเดินทางบางรุ่นมีการผลิตจากวัสดุพิเศษที่ทำให้กระเป๋ามีน้ำหนักเบาแต่ยังคงทนแข็งแรง ทำให้ของภายในไม่เสียทรงหรือเสียหายหากเกินแรงกดทับหรือการกระแทกแรงๆ สามารถกันน้ำได้ และยังสามารถป้องกันขโมยได้ระดับหนึ่งเพราะมีให้เลือกทั้งแบบที่เป็นเฟรมล๊อครหัส หรือบางรุ่นเลือกใช้ซิป 2 ชั้นกันกรีดเปิดได้ยาก
ข้อเสีย : กระเป๋าเดินทางประเภทนี้ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ จึงยากต่อการเก็บ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือในรถ ในการใช้งานกระเป๋าแบบแข็งเมื่อเกิดรอยขีดข่วน จะเห็นได้ชัด นอกจากนี้หากกระเป๋าทำมาจากวัสดุที่คุณภาพไม่ดีหรือถูกมากๆ ก็อาจจะแตกได้
สำหรับกระเป๋าเป้แบ็คแพก ควรเลือกที่ทำจากผ้าที่ทนทานต่อการฉีกขาด มีรอยเย็บที่แข็งแรง ตัวกระเป๋ามีความเบาแต่รับน้ำหนักได้ดี และมีโครงสร้างที่ซัพพอร์ตหลัง สะพายนานๆ แล้วไม่ปวดหลัง ไม่เมื่อย บางรุ่นกันน้ำกันฝนได้ ระบายอากาศได้ดี
เคล็ดลับที่ 4 - ช่องใส่ของ
แน่นอนว่ากระเป๋าเดินทางแบบผ้า จะมีช่องใส่ของเยอะกว่ากระเป๋าเดินทางแบบพลาสติกแข็งๆ เพราะลักษณะโครงสร้างของกระเป๋าแบบแข็งไม่เอื้อต่อการมีช่องใส่ของได้มากมายนัก รวมถึงช่องใส่ของด้านนอกด้วย จึงควรพิจารณาว่าเรามีสิ่งของที่จะใส่ลงไปในกระเป๋ามากเท่าไหร่ ชอบซื้อของช้อปปิ้งเพิ่มจนกระเป๋าล้นหรือไม่ หรือเป็นคนที่ชอบจัดแจงสิ่งของให้เป็นระเบียบหรือไม่ เพื่อให้ตรงไลฟ์สไตล์ของเรามากที่สุด
แต่ล่าสุดกระเป๋าเดินทางแบบแข็งก็มีรุ่นที่สามารถเปิดฝาหน้าได้มาเป็นตัวเลือกเพิ่ม บางรุ่นสามารถจัดเก็บแล๊ปท๊อปตัวโปรด เพื่อใช้เดินทางไปทำธุรกิจได้แบบง่ายในใบเดียวพร้อมสัมภาระ หิ้วขึ้นเครื่องสบายๆ เดินลากได้แบบไม่เสียภาพลักษณ์
และอย่าลืมดูภายในกระเป๋าเดินทาง ควรมีสายรัดสัมภาระช่องเก็บของ หรือแผงผ้ากั้นแบ่งสัมภาระ นอกจากช่วยเรื่องความเป็นระเบียบแล้ว ยังช่วยให้สัมภาระในกระเป๋าไม่กระจัดกระจายอีกด้วย
เคล็ดลับที่ 5 - ซิป หูหิ้ว ตัวล๊อกและคันชัก
อย่าลืมตรวจดูซิปกระเป๋าให้ดีว่ามีความแข็งแรง เปิดง่าย ไม่กินเนื้อผ้า กระเป๋าบางรุ่นจะมีซิป 2 ด้าน ทำให้สะดวกต่อการเปิดใช้งานอีกด้วย บางท่านนิยมเลือกกระเป๋าเดินทางแบบซิป 2 ชั้น ช่วยป้องกันการโดนกรีดหรือซิปแตก
หูหิ้วกระเป๋าต้องมีความแข็งแรง เพราะต้องรับน้ำหนักของกระเป๋าทั้งใบเวลายก หูหิ้วควรเป็นแบบยึดเกาะติดกับตัวกระเป๋า ยืดหดได้เป็นอย่างดี จับได้ถนัดมือไม่เจ็บมือหากต้องหิ้วเป็นระยะเวลานานๆ
คันชักกระเป๋า ควรเลือกแบบที่สามารถปรับระดับความยาวได้เหมาะกับความสูงของเรา ปกติแล้วคันชักกระเป๋า จะปรับได้สูงสุดที่ระดับเอวเพื่อให้สะดวกต่อการลาก อย่าลืมทดลองจับและลาก หากลากกระเป๋าแล้ว กระเป๋ากระแทกกับขาของเราแสดงว่าความยาวของคันชักยังไม่สัมพันธ์กับความสูง ลองปรับระดับจนมั่นใจว่าพอเหมาะเพื่อความสะดวกระหว่างการเดินทาง
ตัวล็อก เลือกกระเป๋าเดินทางที่มีตัวล็อก TSA ซึ่งเป็นการล็อกด้วยรหัส เป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันไม่ให้ใครก็ตามเปิดกระเป๋าของเราได้ ป้องกันการขโมยหรือการเปิดกระเป๋าเดินทางของเราโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงปลอดภัยกว่ากระเป๋าที่ไม่มีตัวล็อกเลย แต่หากกระเป๋าเดินทางที่ใช้อยู่ไม่มีตัวล็อก ก็สามารถหาซื้อตัวล็อกกุญแจ หรือสายรัด TSA มาล็อกป้องกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรมีขนาดใหญ่หรือสะดุดตามากจนเกินไป เนื่องจากจะล่อตาล่อใจเหล่ามิจฉาชีพซึ่งอาจคาดเดาไปว่าของในกระเป๋าน่าจะมีมูลค่ามากมาย และเสี่ยงต่อการถูกขโมยได้
ล้อ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกระเป๋า กระเป๋าเดินทางล้อลากรุ่นแรก ๆ มักมี 2 ล้อ แต่ปัจจุบันกระเป๋าหลายยี่ห้อทำแบบ 4 ล้อ หมุนได้ 360 องศา ช่วยให้เพื่อนๆมีทางเลือกในการเข็นและดึงกระเป๋า อีกทั้งสามารถลากได้ง่ายกว่าแบบ 2 ล้อ เซฟแรง ไม่ทำให้ปวดข้อมือหรือไหล่ นอกจากนี้ล้อที่สามารถหมุนได้ 360 องศา จะทำให้เคลื่อนย้ายกระเป๋าได้ง่ายแม้ในพื้นที่ที่จำกัด เช่น บนรถไฟ บนทางเดินในเครื่องบิน และในลิฟต์
เคล็ดลับเพิ่มเติมสำหรับ การเลือกซื้อกระเป๋าเดินทาง
การรับประกันสินค้า และบริการหลังการขายเป็นเรื่องสำคัญ เลือกกระเป๋าที่บริการหลังการขายดี ช่องทางติดต่อสื่อสารหลากหลาย ติดต่อสะดวก
เก็บของมีค่าและเอกสารการเดินทางไว้ในกระเป๋าถือที่คุณสามารถมองเห็นได้ตลอดเวลา
ติดป้ายกันน้ำบนกระเป๋าแต่ละใบพร้อมข้อมูลติดต่อล่าสุดของคุณ หากกรณีที่กระเป๋าของคุณสูญหาย ก็จะมีโอกาสสูงที่คุณจะได้รับกระเป๋าคืนอย่างรวดเร็ว
ตรวจเช็คกระเป๋าเดินทางของคุณทันทีที่คุณรับกระเป๋าลงจากสายพาน หากพบความเสียหาย ให้คุณถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน และติดต่อสายการบินหรือบริษัทประกันภัยของคุณทันทีก่อนออกจากพื้นที่สนามบิน
Comments